ความลับในธนบัตร 50,000 วอน

3 Min. READ :

 

ชิน ซาอิมดัง (Shin Saimdang) คือผู้หญิงที่ปรากฎอยู่บนธนบัตร 50,000 วอนของเกาหลีใต้ เธอเป็นผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นมารดาของลูกชายชื่อยุลกก-นักปราชญ์ขงจื๊อและข้าราชการผู้มีชื่อเสียง (โดยยุลกุกได้รับการพิมพ์ภาพในธนบัตร 5000 วอนเช่นกัน)

ขงจื๊อนั้นสำคัญไฉนสำหรับเกาหลีใต้? 

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าขงจื๊อคืออะไร? ลัทธิขงจื๊อไม่ใช่ศาสนาแต่เป็นหลักจริยธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีนตามคำสอนของข่งฟูจื่อ ซึ่งรู้จักกันในนามขงจื๊อ (Confucius)

ลัทธิขงจื๊อมีอิทธิพลอย่างมากไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้นแต่ยังแผ่ขยายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น เวียตนามและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ โดยแก่นคำสอนของขงจื๊อคือความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาได้ผ่านการศึกษาเรียนรู้และตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เมื่อใดที่ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเอง สังคมกลมเกลียวก็จะตามมา

ขงจื๊อมีข้อปฏิบัติหลักๆอยู่ 2-3 ประการ คือ

1. เหริน : การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีมนุษยธรรม  เอาใจเขามาใส่ใจเรา

2.หลี่ :  การทำตามขนบจารีตมารยาท ประพฤติตนให้สอดคล้องกับศีลธรรมของสังคม

3.เซี่ยว : จงรักภักดีต่อวงศ์ตระกูล สามี ภรรยา กษัตริย์ และมิตรสหาย เซี่ยวนั้นกำหนดให้ลูกหลานเคารพเทิดทูนและให้เกียรติบุพการีมากกว่าสิ่งอื่นใด ไม่มีคุณธรรมใดสูงส่งไปมากกว่าข้อนี้อีกแล้วในวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขงจื๊อ บรรพบุรุษได้รับการรำลึกถึงในพิธีต่างๆ ความปรารถนาของพ่อแม่ต้องได้รับการตอบสนองอย่างไม่มีข้อแม้ รวมถึงเรื่องการงานและการเลือกคู่ครองของลูกด้วย ใครที่ทำผิดร้ายแรงต่อบุพการีจะถูกสังคมประณามและถูกทำโทษอย่างหนัก (DANIEL TUDOR,2012,p.61)

ขงจื๊อภายในครอบครัวเกาหลี

พ่อจะมีอำนาจสูงสุด ภรรยาและลูกต้องเชื่อฟังพ่อ ในขณะเดียวกันผู้เป็นพ่อมีหน้าที่ต้องปกครองครอบครัวอย่างเป็นธรรมและหาเลี้ยงครอบครัว ตามหลักขงจื๊อใหม่เพศชายมีอภิสิทธิ์เหนือเพศหญิง ถึงขนาดว่าหากหญิงคนใดให้กำเนิดทายาทจะถูกเรียกว่า “แม่ของเด็กชาย หรือ เด็กหญิง ก” เท่านั้น

ส่วนบ้านใดที่พ่อเสียชีวิต
ก็จะเป็นหน้าที่ของลูกชายคนโตที่ต้องมารับเป็นหัวเรือใหญ่ก่อนผู้เป็นแม่

ธรรมเนียมนี้เป็นไปตามหลัก “เชื่อฟังสาม” ที่มีขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์โชซ็อน คือ ลูกสาวต้องเชื่อฟังบิดา ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี แม่ม่ายต้องเชื่อฟังลูกชาย

นอกจากนี้ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ในการสืบทอดมรดก (ก่อนสมัยโชซ็อน ผู้หญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ชายในการถือครองมรดกตลอดจนการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์) แถมยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษา ถึงขั้นมีหนังสือทางราชการแจกจ่ายให้ผู้หญิงงดเว้นการประพฤติตนเป็นผู้หญิงไร้ยางอาย หรือ อักนยอ (agnyeo) ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับภาระนอกบ้าน หน้าที่ของพวกเธอมีเพียงดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและเมื่อใดที่จำต้องออกไปข้างนอกก็ต้องใช้ผ้าปิดบังใบหน้าไว้ไม่ให้ใครเห็น วัฒนธรรมการปิดบังใบหน้าจึงกลายเป็นเรื่องปกติในหมู่หญิงชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 17 และผู้หญิงเกือบทุกคนในศตวรรษที่ 19

อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพอทำให้หลายคนทราบถึงความยากลำบากของการเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงเกาหลีใต้พอสมควร แม้ปัจจุบันสถานการณ์นี้จะดีขึ้นบ้างแล้วตามยุคสมัย เริ่มมีผู้หญิงเกาหลีใต้หลายคนที่ได้รับโอกาสในหน้าที่การงานตำแหน่งสูงๆ ทุกบริษัทชั้นนำของประเทศเปิดรับสมัครพนักงานหญิงในหลายๆตำแหน่งที่เคยปิดกั้นไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น ทุกอย่างดำเนินไปในทางที่ดีแต่บางครั้งก็อดทำให้คิดไม่ได้ว่านี่เป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น

เมื่อปี 2009

ชิน ซาอิมดัง ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘คุณแม่ผู้ปราดเปรื่อง’ ถูกกำหนดให้ถูกพิมพ์ภาพในธนบัตร 50,000 วอนซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุด ทั้งที่สถานภาพของผู้หญิงเกาหลีใต้ในปี 2000 นั้นได้ดำเนินไปในทางที่ดีกว่าแต่ก่อนมากแล้ว

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีเกาหลีใต้กว่า 12 กลุ่มได้ออกมาประท้วงในการเลือก ‘ชิน ซาอิมดัง’ เป็นภาพพิมพ์ในธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุดนี้ นั่นเพราะชิน ซาอิมดังเป็นสัญลักษณ์ของ “การทำหน้าที่แม่และความกตัญญูกตเวที” และการที่ภาพของเธอถูกพิมพ์อยู่บนธนบัตรมูลค่าสูงสุดนั้นถือเป็นการเชิดชูอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ตีความหมายไปได้ว่าไม่ว่าอย่างไรเกาหลีใต้ก็ต้องการปลูกฝังความคิดว่าผู้หญิงคือเพศผู้รับใช้ และสมควรได้รับการยกย่องเพียงเรื่องความสามารถในการดูแลสามีและลูกๆเท่านั้น

“ทั้งที่ผู้หญิงเกาหลีในปัจจุบันล้วนได้รับโอกาสและการศึกษาที่ดีมากขึ้นแล้ว,ความคิดเรื่อง ‘คุณแม่ผู้ปราดเปรื่องและภรรยาที่ดี’ กลับมาทำให้มันต้องแย่ลง” ควอน ฮี-จอง เลขาธิการของกลุ่มสิทธิสตรีเกาหลีใต้กล่าว

ในปี 2012 นักวิจัยพิวอ้างว่ามีผู้ชายเพียงร้อยละ 8 ที่คัดค้านความเสมอภาคทางเพศ อุปสรรคเรื่องการกีดกันทางเพศดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามภาพของชิน ซาอิมดังก็ยังคงปรากฎอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของทุกผู้ทุกคนในเกาหลีใต้เสมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้หญิงทุกคนจำต้องระลึกถึงอยู่ดี ปัญหานี้หยั่งรากลึกเกินจะขุดถอนได้จนหมด แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งคนรุ่นใหม่จะมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ ผ่อนปรนวัฒนธรรมที่เคร่งเครียดและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

 

อ้างอิง :