รีวิว : จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น THE CATCHER IN THE RYE

8 Min. Read : 

ผู้เขียน :  เจ.ดี.ซาลินเจอร์

จำนวนหน้า (เฉพาะเนื้อหา) : 292 หน้า 

เหมาะกับใคร? :  ผู้อ่านอายุ 19 ปีขึ้นไปที่มีความทรหดอดทนในการอ่านเป็นอย่างมาก และถ้าเป็นนักอ่านสายเก็บวรรณกรรมดังๆก็ขอแนะนำเช่นกันค่ะ

ระดับความยาก : 10/10

ระดับความสนุก : 0/10

ระยะเวลาในการอ่าน : 2 วัน

ไดอะล็อกโดนใจ :  

  • “ชีวิตคือการแข่งขันจริงๆล่ะไอ้หนุ่ม ชีวิตคือการแข่งขันที่เราต้องเล่นตามกติกา”

“ครับอาจารย์ ผมทราบครับ ผมทราบดี”

การแข่งขันห่าอะไรล่ะ

ช่างเป็นการแข่งขันที่แสนประเสริฐเหลือเกิน ถ้าคุณอยู่ข้างเดียวกับคนเจ๋งๆละก็ มันคือการแข่งขัน ผมยอมรับ แต่ถ้าคุณอยู่อีกข้างหนึ่ง ข้างที่ไม่มีคนเจ๋งๆอยู่ด้วย แล้วมันจะเป็นการแข่งขันได้อย่างไร ไม่ใช่เลย ไม่มีการแข่งขันใดๆทั้งสิ้น

  •  “หนังสือที่โดนจริงๆคือหนังสือประเภทที่เมื่อคุณอ่านมันจบ คุณได้แต่หวังว่าคนเขียนมันน่าจะเป็นเพื่อนสนิทมากๆของคุณ และคุณจะสามารถโทรหาเขาเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณต้องการ แต่ก็ไม่ค่อยมีหนังสืออย่างนั้นน่ะนะ”
  •  “พี่นึกภาพเด็กตัวเล็กๆเล่นเกมกันอยู่ในทุ่งกว้างใหญ่ เด็กเล็กเป็นพันๆคนและไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย พี่หมายถึงไม่มีคนตัวใหญ่อยู่เลย-นอกจากพี่คนเดียว และพี่ก็ยืนอยู่ที่ขอบหน้าผาสูงอันตราย สิ่งที่พี่ต้องทำ คือ พี่ต้องเป็นคนคอยรับทุกคน”

จุดสังเกตในหนังสือ :

ปลาทองลับเฉพาะ,ตัวละครฟีบี คอลฟีลด์,ม้าหมุน,หมวกล่าสัตว์สีแดงของโฮลเดน,พิพิธภัณฑ์

ความเห็น :

เพราะกระแส #จินยองอ่าน ในทวิตเตอร์เป็นเหตุให้เราได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมชื่อดังของโลกมากมายหลายต่อหลายเล่ม แล้วในที่สุดก็วนมาถึงหนังสือเล่มนี้ที่ใครต่อใครบ่นว่าเป็นหนังสืออ่านยากและไม่เข้าใจความหมายที่ผู้แต่งพยายามจะสื่อ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าตั้งแต่ปี 1951 ที่หนังสือถูกตีพิมพ์กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีคนถกเถียงกันเรื่องนัยยะที่ซ่อนไว้ในหนังสือไม่รู้จบ วันนี้จึงขอทำการตีความในแบบที่ตัวเองเข้าใจ

หนังสือว่าด้วยตัวละคร ‘โฮลเดน คอลฟีลด์’ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวโคตรยาวของ 3 วันก่อนกลับบ้านหลังจากที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ โดยเริ่มเรื่องด้วยการเข้าพบครูใหญ่สเปนเซอร์ที่ทำให้เราที่ทำให้เราได้รู้รายละเอียดของตัวละครโฮลเดนผ่านบทสนทนาของทั้งสอง

“ชีวิตคือการแข่งขันจริงๆล่ะไอ้หนุ่ม ชีวิตคือการแข่งขันที่เราต้องเล่นตามกติกา”

“ครับอาจารย์ ผมทราบครับ ผมทราบดี”

การแข่งขันห่าอะไรล่ะ ช่างเป็นการแข่งขันที่แสนประเสริฐเหลือเกิน ถ้าคุณอยู่ข้างเดียวกับคนเจ๋งๆละก็ มันคือการแข่งขัน ผมยอมรับ แต่ถ้าคุณอยู่อีกข้างหนึ่ง ข้างที่ไม่มีคนเจ๋งๆอยู่ด้วย แล้วมันจะเป็นการแข่งขันได้อย่างไร ไม่ใช่เลย ไม่มีการแข่งขันใดๆทั้งสิ้น

จากบทสนทนานี้เหมือนจะไกด์ให้เราเห็นมุมมองตัวละครโฮลเดนค่อนข้างชัดเจน เราเห็นการดูถูกหรือต่อต้านผู้ใหญ่อย่างครูใหญ่สเปนเซอร์อย่างเงียบๆด้วยการพยักหน้ารับแต่ในใจนั้นสาปแช่งความเห็นของครูใหญ่ไม่มีชิ้นดี การที่เขาพูดถึงการอยู่อีกฝั่งที่ตรงข้ามกับฝั่งผู้ชนะมันทำให้เห็นว่าโฮลเดนรู้สึกโดดเดี่ยวและตกเป็นเหยื่อของสังคมแห่งหารแข่งขัน ทั้งยังคิดว่าทั้งโลกกำลังต่อต้านเขา

ตลอดทั้งเรื่องจึงไม่มีอะไรนอกจากคำด่าทอผู้คนต่างๆที่โฮลเดนพบเจอ ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะใช้คำว่า ‘คนเฟคๆ’ กับทุกคนที่เขาก่นด่า ซึ่งเราสารภาพตามตรงว่าเราไม่อินและไม่ชอบถ้อยคำการบรรยายเลย ไม่ชอบอะไรแม้เล็กน้อยในหนังสือเลย ไม่ชอบเลยจริงๆ ต้องอ่านแล้ววาง อ่านแล้ววางอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นหนังสือที่เป็นตำนานระดับโลกนั้นทำให้เราไม่อยากยอมแพ้กลางคันจึงมุ่งมั่นอ่านต่อไปเรื่อยๆจนจบ แล้วพออ่านจบก็ได้รู้ซึ้งถึงความเป็นอมตะของหนังสือเล่มนี้เลยจริงๆ

แกนหลักของเรื่องคือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ต้นเรื่องเราจะเห็นโฮลเดนบอกว่าเขาชอบหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่พี่ชายแท้ๆของเขาเป็นคนเขียนเอง ชื่อเรื่อง ปลาทองลับเฉพาะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กเล็กๆคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้ใครดูปลาทองของเค้าเพราะเค้าซื้อมันมาด้วยเงินตัวเอง และยังพูดถึงเรื่องของ อัลลี่ น้องชายของตัวเองที่ตายไป เค้ามักจะเพ้อถึงความน่ารักใสซื่อของน้องชายที่ตายไปอยู่บ่อยๆ รวมทั้งเจ้าฟีบีน้อย น้องสาวคนสุดท้องของเค้าด้วย เหมือนกับพวกน้องๆ(หรือพวกเด็กๆ)เป็นสิ่งดีงามสิ่งเดียวในชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้ ซึ่งในตอนสุดท้ายแล้วมันเป็นแบบนั้น

ในตอนที่ฟีบีถามโฮลเดนว่าเขาอยากเป็นอะไร แล้วโฮลเดนก็ตอบประโยคอันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ‘พี่นึกภาพเด็กตัวเล็กๆเล่นเกมกันอยู่ในทุ่งกว้างใหญ่ เด็กเล็กเป็นพันๆคนและไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย พี่หมายถึงไม่มีคนตัวใหญ่อยู่เลย-นอกจากพี่คนเดียว และพี่ก็ยืนอยู่ที่ขอบหน้าผาสูงอันตราย สิ่งที่พี่ต้องทำ คือ พี่ต้องเป็นคนคอยรับทุกคน’ อาจตีความได้ว่าโฮลเดนรู้ดีถึงความเจ็บปวดของการโตเป็นผู้ใหญ่ว่ามันยากลำบากขนาดไหนเพราะตอนนี้เค้ากำลังประสบพบเจอกับความยากลำบากนั้นอยู่ จึงไม่อยากให้น้องสาวของเขาและเด็กคนอื่นๆต้องมาพบเจอกับความเลวร้ายในโลกของผู้ใหญ่อย่างที่เขาเป็น ตรงนี้สามารถย้อนไปเชื่อมโยงถึงเรื่องปลาทองลับเฉพาะที่เขาบอกว่าชอบได้ด้วย เพราะความคิดอย่างตรงไปตรงมาและใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กเป็นสิ่งที่โฮลเดนอยากเก็บรักษาไว้ หมายถึง การที่เด็กเจ้าของปลาทองไม่ต้องการให้ใครมาดูปลาทองที่เขาซื้อมาด้วยเงินของเขา หากมองอย่างตรงไปตรงมาเด็กคนนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเก็บปลาทองไว้ดูคนเดียวด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่คุณต้องดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม เหตุผลนั้นจะถูกตีค่าไปเป็นอื่นต่างๆนานา เช่น นั่นมันเห็นแก่ตัวเกินไป ไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รู้จักผูกมิตรกับผู้อื่น ไม่รู้จักมารยาททางสังคมบ้างเลย สักวันหนึ่งความคิดใสซื่อและตรงไปตรงมาของคุณจะถูกเปลี่ยน รวมถึงตัวตนของคุณด้วยเมื่อคุณเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมันจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ตลอดเวลาที่อ่านหนังสือเล่มนี้เรารู้สึกว่าโฮลเดนหวงแหนสิ่งนี้เป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน ตัวละครฟีบีซึ่งเป็นน้องสาวที่อายุอ่อนกว่าเขา 6 ปี ฟีบีกลับมีความเป็นผู้ใหญ่กว่า ฟีบีคล้ายจะเข้าใจกระบวนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ดีว่าจะต้องพบเจอกับอะไรบ้างจากการที่เธอโกรธโฮลเดนที่คอยปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่และไร้ความฝัน ฉากที่สื่อได้ชัดที่สุดว่าเด็กบางคน(เช่นฟีบี)ก็ไม่ได้กลัวที่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในโลกของผู้ใหญ่ก็คือฉากที่ฟีบีกระโดดเข้าไปในม้าหมุน ซึ่งม้าหมุนในที่นี้เราตีความได้ว่ามันก็คือกงล้อวัฎจักรของสังคมที่มนุษย์เราต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและเคลื่อนที่ตามมัน วนเวียนไปอย่างนั้นไม่รู้จบ ซึ่งฉากนี้ก็เป็นฉากจบของเรื่องราวทุกอย่างในหนังสือด้วย โฮลเดนยังคงยืนยันจะนั่งตากฝนอยู่ตรงม้านั่งเพื่อมองน้องสาวสนุกเพลิดเพลินอยู่ในม้าหมุน ก็คือไม่ว่ายังไงเขาก็ไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในวังวนของการเติบใหญ่นั้น แต่ที่บอกว่ามีความสุขมากๆนั้นก็ตีความได้ว่าที่สุดแล้วเขาก็ได้ตระหนักว่าไม่ใช่เด็กทุกคน(อย่างเช่นเขา)ที่กลัวการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเค้าไม่ได้ต้องการให้โฮลเดนคอยรับไว้แต่พร้อมที่จะกระโดดลงไปสู่ห้วงเหวโดยไม่ลังเล ยังมีเด็กอีกหลายคนอย่างฟีบีที่พร้อมจะเติบใหญ่ เพลิดเพลินไปกับกงล้อของชีวิต และพร้อมจะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดที่จะถาโถมเข้ามาเพราะรู้ดีแก่ใจว่าไม่อาจหลีกหนีมันได้ไปตลอดชีวิต.

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : 

  • หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ มาร์ก เดวิด แชปแมน มือปืนที่ยิงนักแต่งเพลง นักร้องชื่อดังของวงการเพลงโลกอย่าง จอห์น เลนน่อน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับ จอห์น ฮิงคลีย์ จูเนียร์ คนลอบยิง ปธน. เรแกนด้วย
  • แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่คนทั้งโลกควรอ่าน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกจัดให้เป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับบางสถาบันเพราะเต็มไปด้วยคำผรุสสวาท หยาบคาย อีกทั้งยังสามารถปลุกปั่นให้คนบางกลุ่มเกิดกระแสต่อต้านสังคมได้อีกด้วย ดังกรณีข้างต้น

 

อ้างอิง :

https://www.cliffsnotes.com/literature/c/the-catcher-in-the-rye/summary-and-analysis/chapter-1

http://www.sparknotes.com/lit/catcher/characters.html

http://www.sparknotes.com/lit/catcher/character/phoebe-caulfield/

https://www.theguardian.com/books/2012/jun/21/review-salinger-catcher-rye

http://www.aboutfriday.com/2015/07/Reagan-1981.html