หมายเหตุ : ตัวอักษรสีเทาเป็นลิงก์ สามารถกดเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้นะคะ / เฟมินิสม์ – ทฤษฎี , เฟมินิสต์ – ตัวคนผู้สมาทานทฤษฎีเฟมินิสม์
สวัสดีค่ะ บุ๊คนะคะ ไม่ได้อัปเดตบล็อกนี้เสียนานเลย อันที่จริงก็แพลนไว้ว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่บุ๊คคิดไม่ออกจริง ๆ ว่าจะสื่อสารออกมาอย่างไรดี เพราะคิดถึงใจคนที่จะอ่านบทความนี้เป็นหลักจึงเขียน ๆ ลบ ๆ อยู่นาน รวมถึงเรื่องของศัพท์ทางเทคนิคต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัด แต่ยังไงเสียก็คิดว่าจะต้องเขียนออกมาให้ได้
ขอให้บทความนี้เป็นเหมือนแถลงการณ์ของบุ๊คที่หากคุณเป็นนักเขียนเข้ามาอ่าน คุณสามารถมารีเช็คฉากเป็นพิษอันเนื่องมาจากขนบชายเป็นใหญ่ได้จากความผิดพลาดของบุ๊ค เพื่อที่งานของคุณจะไม่ต้องกลายเป็นงานที่ทำร้ายผู้อ่านที่คุณรักและรักคุณแบบที่บุ๊คเคยทำ
สำหรับผู้อ่าน เมื่อมีคนมาบอกว่างานเขียนที่คุณชอบนั้นเป็นพิษหรือแย่ขนาดไหนยังไง บทความนี้จะบอกว่าคุณควรรับมือแบบไหนและสามารถเข้ามาตรวจสอบกลวิธีการเขียนที่บางทีมันเคลือบแฝงด้วยพิษแต่ถูกทำให้เข้าใจว่าโรแมนติก หลอกให้เราคิดว่ามันถูกต้องหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ใครเขาก็ทำกันมาเนิ่นนานแล้วนี่ ไม่เห็นจะผิดตรงไหน ไม่พองานเป็นพิษกระแสหลักเหล่านี้ยังยัดเยียดบท ‘คนเถียงแทน’ ให้เราอีกต่างหาก มันทำให้เราเสียภาพลักษณ์ และหลายครั้งมันทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อการกระทำหรือคำพูดไม่ดีที่แฝงอยู่ในนิยายไปทำร้ายคนอื่นต่อ ฉะนั้นวันนี้เราจะมาขยี้มันให้แหลกรานกันไปข้างหนึ่ง!
อย่างแรกเลย ก่อนที่เราจะเริ่มเรื่อง บุ๊คอยากจะขอโทษที่ผลิตผลงานอันเต็มไปด้วยมลพิษจากชายเป็นใหญ่ออกมาแก่ท่านผู้อ่านที่อุตส่าห์ให้การสนับสนุน เป็นกำลังใจให้บุ๊คตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ขอโทษในความไม่รู้และไร้เดียงสาขนาดหนักตลอดมา แต่เมื่อวันนี้บุ๊ครู้แล้วก็จะไม่ทำผิดอีกซ้ำสอง และจากนี้ไป ขอให้คุณมั่นใจได้ว่างานของบุ๊คที่คุณกำลังอ่านอยู่นั้นเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ สามารถอ่านได้อย่างสบายใจ
เอาล่ะ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
เรื่องนี้ทำใจยาก…แต่ไม่ลำบากอย่างที่คิด สำหรับผู้ที่ถูกต่อว่าตราหน้าว่ากำลังเขียนญญติดปิตาฯอยู่ ขอให้คุณรู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังเป็น กำลังเผชิญ กำลังคิดกังวล กำลังรู้สึกอยู่ บุ๊คเองก็เคยเป็น บุ๊คเองก็เคยประสบและรู้สึกมาทั้งหมดแล้วเช่นกัน บุ๊คเองก็เคยต่อต้านในครั้งแรกที่กระแสเฟมินิสม์โหมกระหน่ำเข้ามาปะทะมาวิจารณ์สื่อต่าง ๆ อย่างละคร นิยาย ฟิคชั่น อันที่จริงมันเป็นสาเหตุหลักเลยด้วยซ้ำที่ทำให้บุ๊คเริ่มปิดปากเงียบตลอดปีสองปีมานี้
เพราะบุ๊คกลัวค่ะ
ในฐานะผู้ผลิตงาน บุ๊คกลัวมากกกกกกก กลัวจนขี้ขึ้นสมองมันเป็นยังไงก็ได้รู้ตอนนั้นเลย ย้อนกลับไปตอนนั้น ตัวบุ๊คในวัย 29 รับไม่ได้หรอกค่ะ บุ๊คยอมรับความผิดของตัวเองไม่ได้ ใครล่ะ? จะมีนักเขียนคนไหนเหรอที่อยากยอมรับว่างานที่เราสู้อุตส่าห์ทุ่มแรงใจแรงกาย เสียเงินซื้อข้อมูลมาก อุทิศสุขภาพหลัง…สุขภาพจิตให้มัน-ให้มันทั้งหมดมาเนิ่นนานตาปีต้องมาถูกตีค่าตราหน้าว่าเป็นงานแย่ ๆ งานห่วยแตก งานเป็นพิษ ไม่มีหรอกค่ะ งานใครใครก็รัก บุ๊คเปรียบงานตัวเองว่าเป็นดั่งลูก ๆ ของบุ๊คด้วยซ้ำ ทั้งรักทั้งหวงลูกมาก ฉะนั้นบอกเลยว่าคุณเดาไม่ยากหรอกว่าบุ๊คจะสติแตกและใจสลายแค่ไหน และมันยิ่งเลยเถิดไปกันใหญ่เมื่อบุ๊คเริ่มคิดถึงคนอ่านของตัวเอง คนที่ให้การสนับสนุนเรามาตลอด 13 ปี ไม่ว่าเราจะห่วยแตกแค่ไหน ทักษะการเขียนการเล่าเรื่องจะไม่เอาอ่าวยังไง เขาเหล่านั้นก็ยังอุตส่าห์จ่ายเงินซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเพื่อซื้องานของคนอ่อนหัดอย่างเรา เพื่อเป็นทุนเกื้อหนุนและให้โอกาสเราได้พัฒนาตัว-แต่สิ่งที่บุ๊คทำกลับคือการมอบผลงานแย่ ๆ เหล่านั้นให้กับเขา
ไม่ว่าคุณกำลังหวาดกลัวกระแสเฟมินิสม์มากเท่าไหร่ ขอให้รู้ไว้ว่าบุ๊คกลัวยิ่งกว่าคุณร้อยเท่า เพราะความผิดของบุ๊คถูกจารึกเป็นตัวอักษร ลอยเกลื่อนอยู่เต็มอินเตอร์เน็ต ไม่มีวันลบเลือน ปกปิด หรือหลีกหนีความผิดนั้นได้
บุ๊คต่อสู้กับความกลัวและอคติของตัวเองอยู่เนิ่นนานทีเดียว เพราะแน่นอน ขนบชายเป็นใหญ่มันถูกป้อนเข้ามาในหัวบุ๊คตั้งแต่เกิด สิ่งที่พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนฝูงและสังคมบอกเรา ละคร นิยาย การ์ตูน ทุกคน ทุกช่องทางพร้อมใจกันบอกเราว่าการที่ผู้หญิงตบกันเพื่อแย่งผู้ชายมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วนี่ มันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงอยู่แล้วที่จะต้องอิจฉาริษยากัน นางร้ายกับนางเอกไม่มีวันเป็นเพื่อนกันได้ ทางเลือกมีแค่ 2 ทาง จะเลือกเป็นผู้หญิงปากแดงแต่งตัววับ ๆ แวม ๆ หัวนอก หรือจะเลือกเป็นกุลสตรีที่ตรงข้ามกับความชั่วร้ายนั้นทุกอย่างเพื่อที่จะได้ชื่อว่าเหมาะสมคู่ควรกับพ่อยอดกระทาชายนายเพอร์เฟกต์ บุ๊คโตมากับกระแสความนิยมเหล่านั้น อยู่กับมันมา 19 ปีก่อนที่จะเริ่มเขียนงานของตัวเอง
แล้วนักหัดเขียนอย่างบุ๊คจะเขียนอะไรอย่างอื่นได้หรือคะ?
นอกจากเดินตามเส้นทางของกระแสหลัก ต้นแบบอันเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในสังคมอยู่แล้วย่อมเป็นต้นแบบที่เพลย์เซฟที่สุด สุดยอดช้อยส์ที่จะดึงคนอ่านได้
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ประมาณปี 2547 เป็นต้นมา กระแสซีรีส์ฝรั่งก็เริ่มกลายมาเป็นที่นิยม พอเริ่มเห็นตัวละครผู้หญิงร้าย ๆ มีมิติขึ้น บุ๊คก็รู้สึกชื่นชอบมาก ก็ไปเลียนแบบเขาอีก เริ่มเขียนเชิดชูตัวละครผู้หญิงร้ายว่าเป็นผู้หญิงสตรอง เจ๋งและแกร่งกว่าพวกผู้หญิงอ้อ ๆ แอ้ ๆ กุลสตรีอยู่บ้านอยู่เรือนรอผู้ชายมาเลี้ยงดูเป็นไหน ๆ หนักกกกกก!! ขอบอกเลยว่ายิ่งแย่หนักเข้าไปกันใหญ่ ฉิบหายกว่านี้มีอีกไหมตัวฉัน!!!
มันไม่เป็นไรหรอกที่จะออกมาพูดว่านี่คือสิ่งที่ผิด
สิ่งที่เราเคยทำด้วยความไม่รู้ที่แล้ว ๆ มา พอรู้แล้วก็แค่ต้องยอมรับ หยุดทำ แล้วแก้ไขมันซะ เท่านั้นเองค่ะ จึงเป็นเหตุที่บุ๊คต้องทำการระงับการขายผลงานดังต่อไปนี้
- SPELL / กัลป์กล
- THE STORY ABOUT JENY 0,1,2
- MADEMOISELL JESSICA




โครงเรื่องหลัก ๆ คือตัวเอกสองคนตบตีกันเพื่อแย่งชิงคนรัก ฉายภาพความเกลียดชังระหว่างผู้หญิงด้วยกันตลอดทั้งเรื่องจนไม่สามารถตัดทอนฉากใดฉากหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงหรือทำเพียงแจ้งเตือนผู้อ่านได้ เอาเป็นว่ามันโคตรมหาพิษ มองไปทางไหนก็มีแต่ความท็อกซิกไม่ไหว จึงตัดสินใจที่จะระงับการขายไปเลยดีกว่า เพื่อหยุดการผลิตซ้ำมันด้วย
ในฐานะที่เป็นนักเขียนหญิงรักหญิง และตัวเองก็เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตอนที่สะกิดใจค้นพบความจริงนี้ครั้งแรกบุ๊คเองก็ตกใจเหมือนกัน ตกใจมาก เรียกว่าไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว ตายห่า…ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี่เราเขียนเรื่องของหญิงรักหญิงด้วยเรื่องเล่าของคนรักต่างเพศมาตลอดเลยเหรอ????
มันเป็นไปได้ยังไง??
แล้วจะมีประโยชน์อะไรล่ะนี่?????
ทั้งที่เรื่องราวในชีวิต สิ่งที่เราต้องเผชิญ ความเจ็บปวดจากการพยายามปิดซ่อนตัวตน ต้องเก็บงำรสนิยมทางเพศของตัวเอง ความหวาดกลัวการรังเกียจจากสังคม เงื่อนไข สิทธิ สวัสดิการ หรืออะไรต่อมีอะไรอีกมากมายก็ตามแต่-ล้วนเป็นเรื่องที่ชายและหญิงตรงเพศที่รักเพศตรงข้ามไม่จำเป็นต้องกังวล-ไม่แม้แต่-จำเป็นจะต้องเผชิญกับมันเสียด้วยซ้ำ
แล้วทำไมเราถึงต้องไปหยิบไปยืมความเป็นพิษของเขามาเล่าเรื่องของชาวเราด้วย????

นั่นเป็นเพราะวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นการเล่าเรื่องของกระแสหลักใช่หรือไม่? การบอกว่าผู้หญิงพร้อมจะเกลียดชังกันตั้งแต่แรกเริ่มที่เห็นหน้า พร้อมที่จะทำร้าย จิกหัวกันเต็มเหนี่ยวเพื่อให้ได้ซึ่งชายผู้เป็นที่รักมาครอบครอง หากพล็อตนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1920 ตอนที่ประเทศไทยกำลังถกเถียงเรื่องกฎหมายผัวเดียวหลายเมียกันอยู่ มันอาจจะพอฟังขึ้นแต่การจะบอกว่านี่คือ “ธรรมชาติแท้จริงของผู้หญิง” โดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ สภาพสังคม เศรษฐกิจหรือการเมืองมันก็ออกจะดูตื้นเขินไปสักหน่อย เนื่องจากประเทศไทยตั้งแต่สมัยเนิ่นนานมา ผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษา มีสถานะเป็นแค่ไพร่ ต่อให้ใครจะบอกว่าเราเลิกทาสกันมาตั้งนานแล้ว แต่สถานะของผู้หญิงไทยก็หาได้ขยับขึ้นจากเดิมแม้แต่คืบข้อเดียว
พอไม่มีการศึกษา คุณก็หางานทำได้ยาก งานที่ทำได้ไม่ปลูกข้าว,เป็นแรงงานรับจ้างรายวันตามท่าเรือ ก็รับจ้างต้อนควาย ผสมกับขนบเก่าแก่ที่ปลูกฝังกันมาเนิ่นนานพยายามกลบฝังไม่ให้ผู้หญิงล่วงล้ำข้ามอาณาเขตจากประตูบ้านออกมายังที่สาธารณะ ผู้หญิงในชนชั้นสูงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน อาศัยการเลี้ยงดูจากพ่อ จากนั้นเมื่อแต่งออกไปก็ต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากสามี ส่วนหญิงชนชั้นล่างที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยครอบครัวก็มักถูกเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินและรัฐ รายได้หลักแค่พอจุนเจือเถือไถให้ชีวิตดำเนินต่อไปในแต่ละวันได้ หากจะมีอาชีพใดที่ทำให้พอมีกินดิบดีขึ้นกว่าเก่าบ้างเล็กน้อยก็คงไม่พ้นการเป็นโสเภณี แต่ถ้าอยากจะอยู่ดีกินดีตลอดไปก็ต้องเป็นเมียน้อยของชายมั่งมีสักคน
นักคิดนักเขียนนามปากกา ‘แม่แช่’ เคยตั้งข้อสังเกตอันน่าสนใจเอาไว้ว่าช่วงชีวิตหนึ่งของ ‘ชายชาตรี’ นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเกาะเกี่ยวแต่การ ‘ร่ำเรียนฝึกฝน’ เป็นหลัก คือเข้าศึกษาพระธรรมด้วยการบวชเณรหรือภิกษุ จากนั้นเมื่อออกจากวัดมาไม่นานก็เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นข้าราชการกินเงินเดือน เรียกได้ว่าเกือบครึ่งชีวิตแทบจะไม่มีช่วงเวลาของการทำงานหนักเพื่อแลกค่าแรงเลย ในขณะที่ผู้หญิงนั้นเพียงจะผ่านด่านแรกอย่างการได้รับศึกษาก็ยังยากยิ่ง เห็นได้ชัดว่าระบอบและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของไทยนั้นถูกสร้างขึ้นมาเอื้อประโยชน์ต่อชายตรงเพศกำเนิดมากกว่าเพศไหน ๆ
ผู้ชายจึงมีความหมายในแง่เศรษฐกิจ
การมีภรรยาหลายคนนั้นเป็นเสมือนเครื่องยืนยันสถานะว่าชายผู้นั้นมีสมบัติพัสถานมากมายก่ายกองเหลือใช้จนเลี้ยงดูทั้งลูกและเมียได้หลายชีวิต นอกจากนี้สังคมยังให้อภิสิทธิ์แก่เจ้าเรือนที่เบื่อหน่ายเมียน้อยของตนให้สามารถขายทอดตลาดส่งต่อไปยังซ่องโสเภณีได้อีกต่างหาก พูดมาถึงตรงนี้คงไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมว่าเหตุใดผู้หญิงจึงต้องดิ้นรนตบตีกันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งเมียหลวง เมียหนึ่งเดียวที่จะสามารถนอนหลับตาลงได้ทุกคืนโดยไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้ตนและลูกจะเอาอะไรกินหรือยังมีหลังคาคุ้มหัว มีที่นอนอุ่นอยู่หรือไม่
เราสามารถพูดได้ไหมว่าเหตุที่ผู้หญิงตบกัน คือการตบเพื่อความอยู่รอด?
แต่นวนิยายสมัยก่อนกลับจับเอาภาพนั้นมาเล่าโดยหลงลืม(หรือไม่ทันคิด หรือไม่เคยคิดก็ไม่รู้)บริบท เหตุเพราะนักเขียนนักคิดส่วนใหญ่สมัยก่อน หากไม่เป็นชายชั้นสูงก็เป็นหญิงชนชั้นสูงและกลางบนที่ได้รับการศึกษาและรับเอาคุณค่าความเป็นหญิงที่ดีจากยุควิคตอเรียนซึ่งมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของชายและหญิงชัดเจน (Gender Role)
สำหรับนักเขียนนิยายแล้ว…เราจะบอกผู้อ่านให้เห็นภาพชัดเจนได้อย่างไรน่ะหรือว่าผู้หญิงแบบไหนกันที่เรียกว่า ‘ผู้หญิงที่ดี กุลสตรีศรีสยาม’ แน่นอนค่ะว่าเราจะใช้สูตรเก่าสูตรหากินของบรรดานักเขียนเก่าแก่ทั่วโลก นั่นคือการสร้างความเป็นอื่นขึ้นมา
สร้างตัวละครนางร้ายขึ้นมาเสียสิ
เพื่อเป็นภาพเปรียบเทียบหนุนนำ เชิดชูว่าผู้หญิงนั้นหากประพฤติตัวดี (ไหว้งาม เคารพผู้อาวุโส(แม่พระเอก) ถนัดร้อยมาลัย มีงานอดิเรกไทย ๆ เป็นแม่บ้านแม่เรือน ฯลฯ) มีลักษณะนิสัยดี (วาจาสุภาพอ่อนหวาน น้ำใจงาม ค่อย ๆ พูดค่อยจา ไม่ไทยคำอังกฤษคำ ฯลฯ) แต่งตัวดี (มิดชิดปิดตั้งแต่หัวถึงตีน นุ่งผ้าซิ่นไม่ก็กระโปรงยาวกรอมเท้า) ไม่ก็ทำอะไรดี ๆ ตามตำรากุลสตรีไทย ผลสุดท้ายสิ่งที่คุณจะได้เป็นรางวัลคือชีวิตที่มีความมั่นคง(และอาจมั่งคั่ง)ทางเศรษฐกิจ
คือการได้แต่งงานเป็นรักแท้รักจริงรักเดียวของพระเอก
การเขียนแบบนี้ นอกจากจะเรียกว่าเป็นการมักง่าย มองแต่มุมที่ตนอยากมอง มุมที่มองนั้นยังมีเลนส์แห่งอคติความเกลียดชังเพศหญิงเคลือบแฝงอยู่เต็มเปี่ยม (แม้ตัวนักเขียนเองจะเป็นผู้หญิงก็ตาม)
และไม่น่าเชื่อว่าจนถึงวันนี้ ผ่านมา 100 ปีเห็นจะได้ นิยายตบกันแย่งผัวในยุคนั้นก็ยังคงถูกผลิตซ้ำต่อมาเรื่อย ๆ จากปลายปากกาของนักเขียนรุ่นใหม่ รวมถึงตัวบุ๊คเอง จนกลายเป็นว่าตัวเรานั้นได้มีส่วนในการตอกย้ำซ้ำเติมภาพของผู้หญิงที่พร้อมเกลียดชังกัน พร้อมที่จะทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม แต่นักเขียนอย่างดิฉันก็พร้อมจะบิดให้ต้นสายปลายเหตุหลงเหลือเพียงแต่ความพิศวาสอยากได้ผัวจนตัวสั่น เพราะการผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่ายาวนานนับร้อยปีนี้เองที่ทำให้วาทกรรมที่ว่า ‘ผู้หญิงมันก็เป็นแบบนี้ ผู้หญิงมักขี้อิจฉานินทารังเกียจกันเป็นเรื่องธรรมดานี่’ กลายเป็นความจริงกระแสหลักขึ้นมา
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ บุ๊คอยากให้คุณลองตั้งคำถามกับตัวเองดูค่ะว่ารอบตัว ๆ คุณเวลานี้รึในอดีตที่ผ่านมา คุณรู้จักผู้หญิงที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงตลอดเวลาแบบนางร้ายพร้อมตบนางเอกในละครอยู่กี่คนกัน? และหากมีก็ลองพิจารณาถึงต้นสายปลายเหตุดูว่าแท้จริงคืออะไร
ครั้งแรกที่รู้ตัวว่าชอบผู้หญิง เท่าที่จำความได้ก็น่าจะราว ๆ ก่อนขึ้นป.1เลยด้วยซ้ำ แต่เราไม่เคยเข้าใจความรู้สึกนี้ของตนเลยว่ามันคืออะไรแน่ รู้เพียงแต่ว่าผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชายเท่านั้น และสิ่งที่เรารู้สึกมันไม่สมควรจะพูดออกไปให้ใครฟัง ทั้งที่ยังเด็กขนาดนั้นแท้ ๆ แต่ก็รู้ได้เองโดยไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าหากพูดออกไปว่าชื่นชอบแอบปลื้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอยู่คงเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีใครเดือดร้อนเพราะเราแน่ ๆ อย่างน้อยคือตัวเรานี่ล่ะที่น่าจะโดนหนักสุด
พอเริ่มแตกเนื้อสาวก็มีบ้างที่เพื่อนวัยเดียวกันหรือรุ่นพี่ผู้หญิงจะเข้ามาพูดคุยฉอเลาะให้พอรู้ว่าเฟลิต แต่ก็ไม่มีใครกล้าเดินหน้าหรือพยายามข้ามเส้นมากไปกว่า ‘คนที่คุย ๆ กัน’ หลายครั้งก็จะถูกถามว่าเป็น(เพศ)อะไรกันแน่ ไม่ใช่ ‘ทอม’ หรือ? ทำไมจึงดูไม่เหมือนทอม แล้วทำไมถึงได้ชอบผู้หญิงล่ะ? ตอบไม่ได้เลยค่ะ บุ๊คโตมาในยุคที่ไม่มีใครรู้จักคำว่าเลสเบี้ยนด้วยซ้ำ ไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าจะเรียกตัวเองว่าอะไร ได้ยินคำนี้ครั้งแรกก็คือตอนที่เพื่อนชายในกลุ่มสมัยมัธยมต้นเอาดิกชันนารีมาเปิดเพื่อจะล้อเลียนเราว่า ‘บุ๊ค มึงเป็นอันนี้รึเปล่าวะ เลสเบี้ยนเนี่ย เพราะมึงชอบผู้หญิงแต่มึงไม่ห้าวเหมือนทอมไง’ แล้วพูดโพล่งขึ้นมาหน้าห้องระหว่างรอครูเข้ามาสอน คือคนในห้อง 60 กว่าคนได้ยินกันหมด เราก็ได้แต่ยิ้มแหย ๆ และสั่นหน้าว่าไม่ใช่ เพราะถ้ายอมรับไปก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหตุเพราะเห็นเพื่อนคนหนึ่งที่กล้าแสดงตนเปิดเผยว่าชอบผู้หญิงมักจะถูกพวกผู้ชายกลั่นแกล้งอยู่ตลอด เราไม่อยากแปลกแยก ไม่อยากถูกแกล้งหรือล้อเลียนดั่งเช่นที่เพื่อนหญิงรักหญิงคนนั้นถูกกระทำ
เข้าม.ปลายที่เชียงใหม่ก็เริ่มคบหากับคนรัก ไม่เป็นแค่คนที่คุย ๆ แล้วแต่เริ่มคบอย่างจริงจัง ที่กล้าก็อาจเป็นเพราะว่าเราอยู่ไกลบ้าน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้รักก็ต้องเป็นไปอย่างลับ ๆ อยู่ดี อีกทั้งการที่ไม่อาจหาคำนิยามให้กันและกันได้ ด้วยทั้งเราและเขาต่างเป็นหญิง ไม่มีฝ่ายใดแสดงออกเป็นชาย แน่นอน เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมารู้เพียงแต่ว่าหญิงต้องคู่กับชายเท่านั้น แล้วไอ้คนที่ไม่ใช่ ไม่อยู่ตามกรอบนี้มันจะต้องทำตัวยังไงล่ะนี่?? ไอ้ความสับสนรำคาญใจนี้เมื่อมาผสมกับการต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต้องปิดบังแม้แต่กับเพื่อน ๆ ของตัวเองทั้งสองฝ่าย ที่สุดแล้วก็ไม่อาจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง ลงเอยที่ทางเขาถูกพ่อแม่จับได้ และสุดท้ายเขาจึงต้องเลือกคบหากับผู้ชายเพราะความจำเป็น
แต่แล้วก็ยังไม่เข็ด บุ๊คยังทู่ซี้มีความรักอย่างไม่หยุดยั้ง แล้วคราวนี้ก็เป็นทางฝ่ายบุ๊คเสียเองที่ถูกแม่จับได้ ต่อให้พยายามปิดสักแค่ไหนก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาแม่ และสิ่งที่แม่ทำก็คือบอกให้ครูประจำชั้นในตอนนั้นกักบริเวณบุ๊คทุกช่วงพักเที่ยง หลังกินข้าวเสร็จต้องไปอยู่กับครูที่ห้องพักครู ไปนั่งเฉย ๆ มองครูกินข้าวจนหมดเวลาพักอยู่ตลอดทั้งเทอม เพื่อที่จะได้ไม่มีเวลาอยู่กับคนรักที่เป็นผู้หญิง เหตุการณ์นี้นับเป็นความอับอายและทรมานแสนสาหัสสำหรับเด็กอายุ 17 มากเหลือเกิน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง พยายามจะลบแต่มันก็ฝังใจอยู่ตลอด เพิ่งจะกล้าเปิดปากเล่าให้เพื่อนสนิทฟังก็เมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง ตอนนั้นรู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า แม้แม่จะไม่ยอมพูดออกมาตรง ๆ ว่าห้ามเรารักผู้หญิงอีก แต่บุ๊คก็รู้ได้ทันทีว่าบุ๊คไม่อาจเป็นสิ่งที่บุ๊คเป็นได้ ตราบใดที่ยังเป็นลูกของแม่ และนั่นหมายถึงตลอดไป ใช่ไหมคะ?
นับแต่นั้นก็ไม่คิดอยากจะมีความรักอีก
จะมีรักไปทำไม ในเมื่อใคร ๆ ดูจะเป็นทุกข์เสียเหลือเกินกับการที่เราเป็นเรา เราคือความผิดบาปของพ่อแม่ เป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องอับอายแก่สังคม คิดเตลิดไปไกลว่าแม่จะต้องอับอายขนาดไหนกันนะที่ต้องไหว้วานให้ครูมาทำเรื่องน่าสมเพชเช่นนี้กับเรา จะฝันถึงรักดีดีที่สมหวังก็ไม่แม้แต่จะกล้า ไม่เคยนึกจินตนาการภาพออก เพราะสังคมไม่อนุญาตให้เราฝัน และพร้อมที่จะดับหวังเราทุกเมื่อหากเราคิดต่อต้าน
จนกระทั่งได้รู้จักกับ ‘แฟนฟิคชั่น’
แฟนฟิคชั่น ทำหน้าที่แย่งชิงพื้นที่ของเรื่องเล่ากระแสหลัก เรื่องเล่าของรักต่างเพศ ในขณะที่เหล่าผู้เรียกตัวเองว่าชายจริงหญิงแท้มีสื่อหนังละครนิยายอะไรให้เสพตั้งแต่เกิดและไม่เคยต้องเผชิญความกลัว ไม่ต้องพยายามปกปิดตัวตน เราต้องรอถึง 19 ปี
กว่าจะค้นเจอเรื่องเล่าของตัวเอง 19 ปี กว่าจะได้อ่านเรื่องเล่า
ที่พูดถึงชีวิตผู้หญิงรักผู้หญิงแบบ
“ปกติสุข”
19 ปีกว่าจะได้รู้ว่าตัวเองไม่ได้วิปริตผิดเพศเป็นบาปกรรมของพ่อแม่
เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของสังคม
19 ปีที่ได้รู้จากเรื่องเล่าเหล่านี้ว่าเราฝันได้นะ เราเองก็มีชีวิต
มีความรัก มีความหวัง มีความฝันได้
อย่างที่ผู้ชายผู้หญิงรักต่างเพศสามารถทำ!
ถ้าไม่มีเรื่องเล่าจากแฟนฟิคชั่นก็ไม่รู้เลยว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป ไม่ว่าทางใดก็ดูสิ้นหวังเหลือเกิน
ปิตาธิปไตยไม่เคยให้ที่อยู่ที่ยืนแก่ความเป็นอื่น มันบังคับข่มขู่ว่าโลกนี้ต้องมีเพียงชายและหญิง พ่อและแม่ที่อยู่ในกฎกรอบ มีบทบาทหน้าที่ตายตัว ดำรงอยู่เพื่อการสืบพันธุ์ ผลิตซ้ำแรงงานออกมาป้อนหว่านภาษีแก่รัฐเพื่อให้กงล้อแห่งทุนนิยมหมุนเวียนต่อไปไม่สิ้นสุด สิ่งอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้คือความผิดบาปทั้งหมด
กระนั้น เรื่องเล่าของบุ๊คมันอาจจะฟังดูเบาหวิวเพราะว่าเราต่างคุ้นชินกับ ‘ความรุนแรง’ ในรูปแบบของการกระทำ หลายคนอาจไม่นับว่าการถูกล้อเลียนด้วยเหตุแห่งเพศและรสนิยมทางเพศนับเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ไม่ได้มองเห็นว่าการที่บุ๊คไม่สามารถเป็นตัวบุ๊คได้เลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมามันถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ไม่เป็นไรค่ะ อาจเป็นเพราะว่าบุ๊คเป็นหญิงรักหญิงที่เกิดมาตรงเพศ (Cis Woman) ท่ามกลางความหวาดกลัวและความยากลำบาก บุ๊คยังสามารถ ‘กลืน’ ไปกับสังคมรักเพศตรงข้ามได้ในฐานะผู้หญิง ‘ปกติ’ คนหนึ่ง แค่อดทนปิดปากตัวเอง ควบคุมการแสดงออกของตน ไม่ให้ใครรู้ว่าเราชอบผู้หญิงไปให้ได้รอดตลอดฝั่งก็ถือว่ารอดแล้ว-แต่ทว่า โลกใบนี้ยังเต็มไปด้วยผู้หญิงอีกหลายอัตลักษณ์ หลายประเภท หลายกลุ่มที่เขาไม่สามารถ ‘กลืน’ ไปกับมาตรฐานของสังคมนี้ มีผู้หญิงที่กล้าหาญกว่าบุ๊คร้อยเท่าพันเท่า ผู้หญิงรักผู้หญิงที่กล้าแสดงออกบอกให้โลกรู้ว่าเราเป็นเรา-แต่กลับมีเพียงความรุนแรงและความตายเท่านั้นที่สังคมมอบเป็นรางวัลแด่เขา
พอแล้วพอ
เราจะไม่มาทนนั่งเล่นมุกตลกขำขื่นในวงเหล้า ขำเคล้าน้ำตาถึงบรรดาคนรักเก่าที่จำต้องเลิกราเพื่อไปแต่งงานกับผู้ชายสักคน ขำเศร้า ๆ ที่ต้องมาถูกรังเกียจจากคนในครอบครัวตัวเอง
พอแล้วกับการต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ มีความลับที่บอกใครไม่ได้อยู่ตลอด
พอกับการไม่อาจเฝ้าฝันถึงความสุขสมหวังเหมือนใครเขา
พอเสียทีกับการต้องเผชิญกับความหวาดกลัวทั้งที่เราเพียงแค่อยากจะเป็นเรา!
ปิตาธิปไตยไม่เคยปรานี ไม่มีวันยอมรับ ไม่เพียงกดและกระทืบซ้ำแต่ยังพร้อมทำร้ายเข่นฆ่าเราเสมอมา
เช่นนั้นแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปผลิตซ้ำนิยายหรือสื่ออื่นใดของ
หญิงรักหญิงเราภายใต้เรื่องเล่าของมัน
อย่างน้อยหากเราเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ แม้มันอาจไม่สำเร็จในช่วงชีวิตของเรา แต่คงมีส่วนช่วยเหลือเหล่าหญิงรักหญิงรุ่นใหม่ในอนาคตไว้ไม่มากก็น้อย อย่าให้เด็ก ๆ หรือคนรุ่นหลังเขาต้องมาพบเจอกับความทุกข์ทนเหมือนเราอีกเลยค่ะ มาร่วมกันสร้างคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงแห่งนี้ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นกันเถอะนะ มาค่ะมาช่วยกัน
เราไม่อาจกล่าวโทษในความไม่รู้ของตนในอดีต เพราะเราต่างเติบโตมากับสื่อเหล่านี้ สภาพแวดล้อมเช่นนี้ ตัวบุ๊คเองยังต้องใช้เวลาถึง 30 ปี กว่าจะได้ค้นได้พบได้เบิกเนตรตัวเองและได้ถอดเอาเลนส์เก่า ๆ ที่สังคมยัดเยียดให้ แล้วสวมเลนส์ใหม่เข้าไป เลนส์ที่ชื่อว่าเฟมินิสม์ ดังนั้นจึงขอให้คุณใจเย็น ๆ ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวหรือกังวลเกินเหตุ อาการนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ขั้นต่อไปคือการยอมรับผิด ละทิ้งอัตตาแล้วเสาะแสวงหาความรู้เข้าตัว หากไม่รู้จะเริ่มด้วยตัวเองอย่างไร คุณสามารถพึ่งพาบุ๊คได้
จากนี้จะพูดถึงกระบวนการนำเอาความรู้เรื่องเฟมินิสม์และเพศหลากหลายที่ได้จากซัมเมอร์สคูลธรรมศาสตร์มาใช้
จะค่อย ๆ ไล่เรียงให้คุณเห็นเลยว่ามันยุ่งยากทรมานและวุ่นวายแค่ไหนในกระบวนการสร้างเรื่องเล่าของเราเอง การค้นหาวิธีเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากกระแสหลักนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมันไม่มีต้นแบบให้เราศึกษาเป็นแนวทาง จะค้นเจอสักเล่มก็ยากเหลือเกิน เรียกได้ว่าทุลักทุเลมากพอสมควร การเขียนเล่าไว้ตรงนี้คงเป็นการดีกว่าหากมันจะช่วยให้เพื่อนนักเขียนญญทุกคนได้มองเห็นขั้นตอน ปัญหาและวิธีการจัดการองค์ความรู้ เพื่อที่ว่าหากใครเจอแบบบุ๊คจะได้รับมือได้ไม่ยากลำบากเท่ากับบุ๊คตอนแรกเริ่ม
โดยขอเริ่มจาก

1. เอฟคลับ : นารีเป็นอื่น ภาคแรก ถูกเขียนขึ้นเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2020 ภายหลังจากความพยายามศึกษาเฟมินิสม์ด้วยตัวเองและเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ไปไม่กี่คลาส บุ๊คเขียนขึ้นด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าเหตุใดผู้คนในอินเตอร์เน็ตดูจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘เฟมินิสม์’ ไปในแนวทางที่ต่างกัน บ้างว่าเป็นแนวคิดที่อยากให้หญิงเป็นใหญ่ บ้างว่าเป็นแนวคิดที่ต่อต้านปิตาฯที่กดทับผู้ชายเหมือนกันและยังต่อสู้เพื่อทุกเพศหลากหลายที่ถูกกดทับจากระบอบนี้ จากนั้นก็มีการถกเถียงกันระหว่างเฟมินิสต์ที่ไม่นับรวมผู้หญิงข้ามเพศและฝ่ายที่นับรวม แล้วยังมีเฟมินิสต์ที่ต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกชนชั้นกับเฟมินิสต์ที่เหมือนจะมองข้ามผู้หญิงชนชั้นรากหญ้าและผู้หญิงที่ทำงานในบ้านไป ฯลฯ
ข้อมูลมหาศาลมากล้นชวนสับสนวุ่นวายเต็มไปหมด การพยายามศึกษาด้วยตัวเองนั้น หากไม่มีทุนรอนสำหรับซื้อหนังสือวิชาการ(ซึ่งราคาไม่ใช่น้อย)หรือไม่ก็ต่อให้ซื้อได้ก็จะมีอุปสรรคทางด้านกำแพงภาษาอีก เพราะหนังสือส่วนใหญ่ล้วนเป็นเนื้อหาภาษาอังกฤษ มีเว็บไซต์ที่น่าสนใจอย่าง ‘Feminista’ ที่ช่วยได้มากทีเดียว แต่ก็ยังอดน้อยใจไม่ได้ที่แหล่งข้อมูลของเรามีจำนวนน้อยแหล่งเหลือเกิน นอกจากเฟมินิสต้าแล้วการเรียนได้ช่วยบุ๊คไว้มากจริง ๆ มีบทความหลายบทความที่ทางอาจารย์และทีมงานได้รวบรวมมาให้ ซึ่งหลายอย่างเราไม่อาจตระหนักรู้ได้เองเลยว่านี่ถือเป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ศึกษาเฟมินิสม์เช่นกัน นั่นคือบทสัมภาษณ์จากปากเสียงของผู้หญิงและผู้ถูกกดขี่
ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์พูดมาคำหนึ่งว่า
‘เฟมินิสม์ไม่มีตำรา เพราะตำราของเฟมินิสม์นั้นคือเรื่องเล่าของผู้หญิงและผู้ถูกกดขี่จากปิตาธิปไตย’
ฉะนั้น เนื้อหาของเฟมินิสม์จึงไม่มีวันตายตัว ไม่สามารถอัดมันไว้ในกระดาษไม่กี่ปึก อ่านครั้งเดียวแล้วจบไป มันจะถูกอัปเดตใหม่ทุกครั้งเมื่อผู้หญิงหรือผู้ถูกกดขี่เปล่งเสียงพูดออกมาเพื่อเรียกร้อง เพื่อต่อต้านผู้กดขี่ ดังนั้นมันจึงไม่แปลกที่แรกเริ่มของการศึกษาคุณจะพบเจอกับข้อมูลที่ชวนให้สับสนงุนงงจนเหนื่อยใจ แต่ไม่ว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกถกเถียงกันไปทางไหนอย่างไรก็ตาม หลักการแก่นแท้ของเฟมินิสม์นั้นมีจุดมุ่งหมายคือ การต่อต้านการกดขี่จากระบอบปิตาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายร่วมของเหล่าผู้สมาทานแนวคิดนี้ ฉะนั้นไม่ต้องงงเวลาที่เห็นเราตีกันนะคะ 5555+
นารีเป็นอื่นภาคหนึ่ง เขียนขึ้นเพื่อจะสื่อสารเรื่องนี้
มันว่าด้วยเรื่องของชาวหญิงรักหญิงที่มีหลากหลายอัตลักษณ์
หลากการแสดงออก หลายเรื่องเล่า แต่พวกเธอมีจุดร่วมเดียวกันอยู่ นั่นคือการมารวมตัวที่เอฟคลับ(บาร์เหล้า)เพื่อร่วมต่อต้านระบอบที่กดขี่ตน
ขอสารภาพว่าบุ๊คเขียนได้ทื่อตรงมากเลยค่ะ 555+ เพราะมันเป็นการเขียนหลังได้รับวิชาความรู้มาสด ๆ ร้อน ๆ แล้วก็คิดแค่ว่าทำไมทุกคนดูเข้าใจไม่ตรงกันเลย อย่างนั้นเราเขียนนิยายที่สร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเฟมินิสม์และเพศหลากหลาย101ให้คนได้อ่านดีไหมนะ เพื่อที่ว่าหากเราเข้าใจเรื่องพื้นฐานตรงกันแล้ว เราจะได้มุ่งไปถกประเด็นอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งกว่านี้ต่อไปในภายหน้า เพราะหากคนหนึ่งเข้าใจว่าเฟมคือหญิงเป็นใหญ่ อีกคนเข้าใจไปอีกอย่าง ก็ไม่เห็นทางเลยที่จะจูนกันติดใช่ไหมคะ? เถียงกันไปก็เปลืองน้ำลายเปล่า
และเพราะความร้อนวิชา รวมถึงทราบดีว่าข้อมูลเรื่องเพศเหล่านี้มันค่อนข้างอ่อนไหว เป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อนมาก หากเราสื่อสารออกไปไม่ดีพอก็อาจจะทำให้ไปกระทบกับอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งเข้า สร้างความเสียหายแก่เขา บุ๊คจึงเขียนได้ซื่อตรงมาก คือการอัดเชิงอรรถไปแน่นเอี้ยดเลยจริง ๆ เพราะงั้นท่านไม่ต้องแปลกใจหากเห็นคำศัพท์เทคนิคมากมายจนตาลายไปหมด แต่แหม มันก็น่าตั้งคำถามนะคะว่าทีนิยายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เองก็พูดแต่คำศัพท์ พูดแต่เรื่องที่เราไม่รู้เต็มไปหมด แต่ผู้คนก็ดูจะพยายามทำความเข้าใจแถมยังภูมิอกภูมิใจเสียอีกที่เข้าใจศัพท์เทคนิคเหล่านั้นอย่างแจ่มแจ้ง ทว่ากับเรื่องเพศดันอ้างว่ายุ่งยากปวดหัวตลอดเลย บอกให้เราพูดภาษาคนจะได้ไหม อะไรมันจะน่าน้อยใจขนาดนี้! 5555+
2. เอฟคลับ : นารีเป็นอื่น ภาคสอง พอเวลาล่วงผ่านไปประมาณ 3-4 เดือนให้หลัง หลังศึกษาค้นคว้าเฟมินิสม์มาได้สิริรวมราว ๆ 6-7 เดือน มุมมองบุ๊คเริ่มเปลี่ยนไปอีก องค์ความรู้เรื่องกรอบไบนารีและแรงงานได้พุ่งเข้าชาร์จอัตตาของบุ๊ค หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วเรื่อง ‘ติดไบ’ ไบที่ว่านี้หมายถึงระบบเพศทวิลักษณ์ (Gender binary) พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือระบบสองเพศซึ่งมันขับเคลื่อนโลกที่เราอาศัยอยู่นี่แหละค่ะ เท่าที่บุ๊คค้นคว้ามาทราบว่าน่าจะกำเนิดมาจากยุควิคตอเรียนแบบที่กล่าวไว้ข้างบนเนาะ ยุคสมัยที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ชายและหญิงตายตัว อย่างที่ทุกคนรู้กัน ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องขี้แยอ่อนแออ่อนหวาน ผู้ชายใส่กระโปรงไม่ได้ ผู้ชายห้ามร้องไห้ ห้ามชอบสีชมพู ต้องเสียสละ ผู้หญิงต้องดูแลลูกผัวและการเรือน และอีกต่าง ๆ มากมายหลากหลายที่บรรยายวันนี้ก็คงไม่หมด
อือ นั่นแหละ ตอนนั้นบุ๊คก็ได้เรียนรู้อัตลักษณ์หนึ่งคือ Non-binary เหล่าผู้ไม่สมาทานการติดไบ เหล่าผู้คนที่เชื่อว่าการแสดงออกและตัวตนทางเพศนั้นลื่นไหลและหลากหลายเกินกว่าจะต้องมาถูกจับยัดลงกล่อง 2 ใบที่ชื่อว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’
‘สกาย’ ตัวละครหลักในนารีเป็นอื่นภาคสองนี้เองที่ทุกข์ทนกับกรอบไบนารีที่สังคมยัดเยียดให้ เขาเป็นทุกข์เสมอเมื่อต้องถูกบังคับให้เลือกแค่สอง ไม่ชายก็ต้องหญิง ห้องน้ำในที่ทำงานนั้นเป็นอุปสรรคที่กินแหนงแคลงใจจนต้องกลั้นปัสสาวะเพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ไม่แปะป้ายสัญลักษณ์เพศใดเพศหนึ่งไว้ซึ่งไกลออกไปมากอยู่ตลอด นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้นที่พอจะบรรยายให้ท่านจินตนาการเห็นภาพตามได้ ในส่วนของเนื้อหายังมีประเด็นที่เขาต้องเผชิญอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของชนชั้น สกายเป็นลูกแม่ค้าในตลาดที่พยายามดิ้นรนส่งเสียลูกให้เรียนสูงหวังยกระดับฐานะตนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง จนในที่สุดเมื่อตนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้ก็ต้องมาพบกับความจริงที่ว่ายังมีอีกชนชั้นหนึ่งเหนือหัวเราอยู่ดี การต่อสู้ครั้งนี้มันจะไปจบที่ตรงไหนกันนะ?
สกายเป็นนอนไบนารีที่แสดงออกเสมอเหมือนเป็นหญิงและรักผู้หญิง แต่เขากลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ฟิตอินกับเอฟคลับที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดาหญิงรักหญิง Cis Woman ชนชั้นกลางบนค่อนไปทางสูงจากภาคแรก ไม่พอเขายังถูกกดขี่จากเจ้านายที่เป็นหญิงรักหญิงอีลีทอีกต่างหาก เอาเข้าไป!
ภาคนี้ก็ยังเป็นการเล่าแบบทื่อตรง เต็มไปด้วยศัพท์วิชาการ(ที่เบาบางจากภาคแรกมากแล้ว นี่น้อยแล้ว?) แต่คุณจะยังเห็นชัดอยู่ว่าบุ๊คยังไม่มีความกล้าจะแตะต้องข้อมูลดิบแล้วนำมันมาประยุกต์เป็นการเล่าด้วยภาพแบบปัง ๆ ไปเลย คือเหมือนบุ๊คยอมแพ้ไปแล้ว 555+ เพราะไปเห็นว่างานวรรณกรรมญี่ปุ่นเองก็เน้นเล่าไปเรื่อย ๆ พูดศัพท์อะไรที่เข้าใจกันเอง ก็ยังมีคนอ่านได้หนิ ก็ยังมีคนแปลมาขายหนิ อะไรแบบนี้ และมันก็ยังคงเป็นแบบนี้เรื่อยไปจนถึงเรื่องถัดมา…

3.เมอัน : อาทิตย์กลางคืนภาคปฐมบท ความรู้เรื่องเฟมถูกอัพเดตเรื่อย ๆ แม้คลาสเรียนจะหยุดไปเพราะโควิด บุ๊คก็นั่งอ่านหนังสือประกอบการเรียนที่ทางซัมเมอร์สคูลให้มา อ่าน ๆ จนหมดเลยด้วยความอยากรู้อยากเข้าใจ เป็นนิสัยส่วนตัวอย่างหนึ่งที่ไม่เคยแก้ได้ นอกจากจะตกเป็นทาสการเมืองสัญลักษณ์ ชอบคิดว่าตัวเองเป็นเห็บหมา เราจบมาไม่ตรงสาย ไม่ได้จบมหา’ลัยดังในกรุงเทพฯ ภาษาก็ไม่เก่งอีก ทำให้เข้าถึงข้อมูลอะไรได้น้อยกว่าใคร ๆ เรามันโง่ ๆ ๆ เพราะงั้นเวลาที่มีข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาบุ๊คจะไม่ค่อยดื้อมาก (แต่ก็ดื้ออยู่นะ) เพราะอีโก้ผีบ้าผีบอมันค้ำคออย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ต้องขอบคุณที่ตัวเองชอบคิดว่าตัวเองโง่มากอยู่แล้วจึงต้องพยายามมากกว่าคนอื่น กลายเป็นว่าตัวเรานั้นสามารถเปิดรับข้อมูลที่สวนทางกับความเชื่อ สวนทางกับขนบที่เราโตมาได้ค่อนข้างมากและค่อนข้างง่ายเลยทีเดียว (คือมีอาการต่อต้านเล่นตัวพอเป็นพิธีแค่ในช่วงแรก) แล้วพอรับมามาก บุ๊คก็เริ่มหลงใหลมัน เป็นแบบนี้ตลอดเวลาหาข้อมูลเพื่อจะเขียนเรื่องใหม่ ชอบดำดิ่งจนกู่ไม่กลับ 5555+ สุดท้ายพล็อตก็งอกออกมาอีกจนได้!
กลายเป็นเมอันเรื่องนี้ เป้าหมายแรกเลยที่เขียนก็เพราะอยากจะเล่าเรื่องผู้หญิงทำงาน เวิร์คกิ้งวูเมนที่เราเรียก ๆ กันนั่นแหละนะ เป็นผู้หญิงแบบเดียวเลยก็ว่าได้ที่เป็นตัวหลักในผลงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ แล้วบุ๊คเชื่อว่าตัวเองก็เคยเขียนทำนองว่าผู้หญิงแบบนี้เป็นผู้หญิงเจ๋งเก่งกาจที่สุด และผู้หญิงที่ได้สิทธิ์ในการทำงานนอกบ้านนี้เองก็ชอบไปดูถูกผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนตามขนบปิตาฯ แม้จำไม่ได้แล้วว่าเขียนไว้ในเรื่องไหน แต่เชื่อว่าเคยเขียนแน่นอน ฉะนั้นเลยเป็นวาระดิถีที่ดี
เมื่อวันนี้เรารู้แล้ว เราก็เขียนแก้ไปเลยสิ
ภาคแรกจะเป็นช่วงที่ตัวละคร ‘เรนกะ’ และ ‘คาโอรุ’ ยังเป็นเด็ก เนื้อหาเน้นไปทางการค้นหาตัวตน การพยายามหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองประสาเด็กวัยรุ่น การถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะพวกเด็กผู้ชายที่มายืนรอเจอรอพบหน้าคนสวยขานางเอกของเรื่อง มันดันตีกัน แต่ความซวยดันไปตกที่ ‘คาโอรุ’ นางเอกของเราซะอย่างนั้น! เธอถูกเชิญให้ออกจากโรงเรียนเนื่องจากเป็นเหตุแห่งความวุ่นวาย ไหนจะการตั้งคำถามของเรนกะว่าทำไมแม่ของตนต้องเป็น ‘เมียน้อย’ ด้วยนะ? ทำไมแม่ถึงทำให้เธอกลายเป็นที่ติฉินนินทาของสังคม
เหมือนเป็นแนว ๆ ปูทางหรือทำให้เห็นว่าปิตาฯนั้นมันคืบคลาน
(ถูกยัดใส่หัวเรา)มาตั้งแต่เกิดจนโตอย่างไร เนื้อหาพูดทำนองให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนว่าความเชื่อ,คำสั่งสอนที่ถูกสังคมบอกเล่ากันปากต่อปากนี้
มันทำงานยังไง และสุดท้ายมันถูกฝังลงไปในเนื้อในหนังเราเช่นไร
จนก่อให้เกิดผลแบบไหน
เรื่องนี้ศัพท์วิชาการแทบไม่มีแล้ว เพราะเซ็ตติ้งเป็นยุคโชวะในญี่ปุ่น คือแทบไม่มีเลย และก็ยังคงใช้วิธีการเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ไม่ตามสูตร 3 องก์มาก คือไม่มีไคลแม็กซ์ให้ลุ้น ไม่มีฉากชวนติดตาม อยากตัดตอนอย่างไรก็ตัดเฉยเลย เพียงเล่าต่อไปเรื่อย ๆ เล่าชีวิตของคน แล้วก็ยังสื่อสารตรงไปตรงมาผ่านบทพูดอยู่เลย ยังคงคิดไม่ออกว่าเราจะเล่าแบบอุปมาอุปไมยได้อย่างไร

4.เรื่องสั้น ‘Stand By You’ ; สี Dark Beauty โปรเจกต์ร่วมกับสำนักพิมพ์ลิลลี่ เมอันถูกคั่นกลางด้วยเรื่องสั้นโปรเจกต์ในแบบที่บุ๊คไม่เคยทำมาก่อน ปกติจะไม่รับงานอื่นระหว่างที่กำลังเขียนเรื่องยาวอยู่เลย เพราะหากอารมณ์องค์มันลงแล้ว การมีอะไรมาคั่นกลาง เราก็จำเป็นต้องบิ๊วท์อารมณ์เพื่อสวมบทบาทในเรื่องราวนั้น ๆ ใหม่ใช่ไหมคะ นักเขียนหลายคนคงเข้าใจดี แต่เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสั้นบวกทั้งคิดว่าตัวเองนั้นควรจะหัดร่วมงานกับคนอื่นเขาบ้างนะ 55555+ (ต้องขอโทษลิลลี่มากจริง ๆ ที่ปฏิเสธและพลาดการร่วมงานกันไปหลายรอบแล้ว เอ็นดูเขามากค่ะ) บุ๊คก็เลยรับงานนี้ แล้วก็รู้สึกสนุกและดีใจที่ได้รับนะคะ
น่าจะเป็นช่วงสิงหา-กันยาได้ที่รับเรื่องสั้นมา ถึงจะบอกว่าเรื่องสั้นก็ใช้เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียวกว่าจะเขียนจบ เพราะต้องทิ้งอารมณ์จากเมอันให้หมดจดแล้วสวมองค์ใหม่ 555+ เพราะแพลนไว้ว่าอยากจะเขียนเรื่องรักเบาสมอง เป็นเฟมแบบขบขันบ้างดีไหมนะ ซีเรียสกันข้ามปียันจะท้ายปีอยู่แล้ว แต่ปรากฏบุ๊คก็ไปทำให้เรื่องสั้นตลกที่ว่านี่เครียดอยู่ดีค่ะ 55555555+ เอาเป็นว่าเมื่อเทียบกับบรรดาเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรื่องนี้ถือว่าเบาที่สุด และน่าจะอ่านง่ายที่สุดนะ
มันเป็นเรื่องของ ‘เรกะ’ (เอางี้เลยนะ)
นักเขียนที่เขียนญญติดปิตาฯ หากินกับคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงของตัวเองไปวัน ๆ แล้ววันหนึ่งเพื่อนซึ่งเป็นรักแรกของตัวเองที่เพิ่งเสียไปดันกลับมาเคาะประตูหน้าบ้าน เพื่อน(ผี)คนนี้ก็ชอบมาแอบดูยัยเรกะเขียนนิยายแล้วก็เอาแต่บ่นอยู่นั่น ทำไมถึงได้เขียนเรื่องที่มันกดทับพวกเราล่ะ ปิตาฯมันทำร้ายพวกเราหญิงรักหญิงขนาดไหนก็รู้ ยังจะทู่ซี้เขียนอยู่ได้!
ยัยเรกะก็ไม่ฟังผี ดื้ออย่างเดียวเลย ก็ญญปิตาฯมันขายได้อะ
จะให้ไปเขียนญญเฟมได้ยังไง ใครมันจะอ่าน
เป็นเรื่องที่พูดถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะนักเขียน
ก็ลองหาอ่านกันดูได้ค่ะว่าเรกะจะเลือกทางไหน
จะยังก้มหน้าเขียนญญติดปิตาฯต่อไปหรือมาเวย์นักเขียนไส้แห้งอย่างใครบางคนแถวนี้ ฮึกๆ 5555555+ ยังไงก็ช่วยซื้อกันเยอะ ๆ นะคะ ; – ;

5.เมอัน : อาทิตย์กลางคืนภาคจบ ในที่สุดก็วนมาถึงยัยลูกคนนี้ ลูกที่แม่ไม่รัก ลูกที่ถูกลืม 5555+ ขอสารภาพว่าอย่าหาทำนะคะ การที่จะเขียนนิยายเรื่องหนึ่งให้จบได้มันยากลำบากขนาดนี้เลยจริง ๆ คุณจะต้องมีวินัยในตัวเองและน้ำอดน้ำทนมากมายขนาดไหนกว่าจะพาตัวเองให้ไปถึงธงชัย(800หน้า)ได้ การพาตัวเองออกจากเมอันไปหาเรื่องสั้นทำให้บุ๊คทรมานมากเมื่อต้องกลับมาเขียนเรื่องนี้ต่ออีกครั้ง นักอ่านหลายคนที่ได้รับเมลขอโทษคงจะรู้อยู่แล้วว่าบุ๊คมีปัญหาทั้งเรื่องการเข้าถึงเนื้อเรื่องและอารมณ์ของตัวละคร และปัญหาเรื่องข้อมูลอีกต่างหาก เพราะยิ่งทิ้งช่วงการเขียนไปนานมากเท่าไหร่ ความมั่นใจบุ๊คก็ลดน้อยถอยลงมากเท่านั้น เมอันภาคจบกลายเป็นเรื่องที่บุ๊คกลัว กลัวว่าตัวเองจะมือไม่ถึง กลัวจะคุมเรื่องไม่อยู่และไม่อาจนำพาได้ไปถึงตอนจบ
ด้วยเพราะในเนื้อเรื่องตอนโตนั้น เรนกะผู้ได้รับแนวคิดเสรีนิยมที่เชิดชูความเป็นปัจเจกชน ซึ่งบุกรุกคืบคลานเข้ามาครอบงำญี่ปุ่นเต็มเปี่ยมในช่วงยุคโชวะ รู้สึกขัดอกขัดใจอยู่เสมอเมื่อเห็นผู้หญิงที่ยังคงทำงานรับใช้ในบ้านในเรือน ผู้หญิงที่เป็นกุลสตรีอะว่าอย่างนั้น ในที่นี้รวมถึงคนรักตัวเองอย่างคาโอรุด้วย และความหงุดหงิดรำคาญใจนั้นเองที่มันสั่งสมและพัฒนามาสู่การกีดกันแบ่งแยกผู้หญิงเราออกจากกัน ภาคนี้จะทำให้เห็นชัดเลยว่าการผลักไสกีดกันผู้หญิงที่ต่างจากเราหรือ Internalized misogyny นั้นในบางครั้งบางคราวมันส่งผลร้ายแรงขนาดไหน เมื่อผู้หญิงที่ไร้ทั้งสถานะทางสังคม ยากจะเข้าถึงแหล่งทุน ถูกกดขี่ข่มเหงทำร้ายร่างกายจากสังคมและสามีเสมอมา พอมาขอความช่วยเหลือจากหญิงที่มีสถานะสูงกว่ากลับถูกเหยียดหยามประณามให้ได้อับอายซ้ำอีก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหล่านี้มันสามารถผลักให้คนจนตรอกคนหนึ่งไปสุดยังไงได้บ้าง (และบุ๊คสาบานว่าบุ๊คไปสุดมากจริง ๆ)
เรื่องนี้คนอ่านชมว่าเล่าสบายขึ้น อ่านง่ายกว่าภาคแรกและทุกเรื่องแนวเฟมที่ผ่านมามาก (แต่เล่นเอาคนเขียนเกือบตาย) กระนั้นก็ยังรับรู้ได้ถึงความเคร่งเครียดจริงจังของการพยายามจะพูดจะอธิบายถึงความเป็นเฟมินิสต์มากอยู่ดี-และที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือเรื่องนี้ คุณจะเห็นว่าบุ๊คจงใจใช้คำว่า ‘ผัวเมีย’ กับตัวละครหญิงรักหญิง ใช่ค่ะ! ความคิดความเข้าใจและประสบการณ์ที่สั่งสมทำให้บุ๊คเปลี่ยนไปจากตอนเขียนเอฟคลับภาคสอง ก็คือติดไบก็ได้ไม่เห็นเป็นไรนี่ ถ้าไบนั้นไม่ได้แนบสนิทกับปิตาฯ คือคำว่าผัวและเมียนั้นบุ๊ครู้สึกว่ามันสามารถใช้เรียกกันได้ระหว่างคนรัก ขึ้นกับการตกลงยินยอมของทั้งสองฝ่าย คือเราจะเรียกคนรักของเราว่าผัวก็ได้แม้ว่านางจะไม่ได้มีลุคเป็นผู้นำห้าวหาญแถมยังเป็นรับบนเตียงอีกต่างหากอะไรแบบนี้ เรนกะและคาโอรุก็เป็นเช่นนั้น จึงรู้สึกว่างั้นใช้ดีกว่าเพราะส่วนตัวคิดว่าน่ารักดี ผสมกับบุ๊คคิดศัพท์เรียกคนรักแบบอื่นไม่ออกด้วยค่ะ 5555+ ถ้าใครมีแนะนำก็บอกได้เลยนะคะ
นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่บุ๊คตั้งใจใส่เข้าไป ก็คือเรื่องรูปร่าง/รูปลักษณ์ของเรนกะซึ่งเป็นผู้หญิงโครงใหญ่ไหล่กว้าง ตัวสูง สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วเหมือนชาวต่างชาติอะไรแบบนี้ คิด ๆ ตามแล้วก็ดูจะถอดแบบไบนารีมาทุกกระเบียดเลยใช่ไหมคะ ที่ว่าฝ่ายชายต้องสูงใหญ่ ฝ่ายหญิงต้องตัวเล็กน่าทะนุถนอมแบบบาง ส่วนตัวแล้วไม่ได้บรรยายรูปร่างของตัวละครผู้หญิงคนไหนในเรื่องแบบเฉพาะเจาะจงว่าตรงตามมาตรฐานอะไรขนาดนั้น ยกเว้นแต่ตัวละครเรนกะคนเดียวเท่านั้นที่ดูจะ ‘ผิดมาตรฐาน’ สตรีญี่ปุ่นจนโดดเด่นออกมาเป็นที่สะดุดตาสังคม และเธอมักจะถูกทั้งตัวละครหญิงและชายในเรื่องตำหนิ หรือไม่ก็แสดงออกถึงอาการขัดหูขัดตาเกี่ยวกับรูปร่างและรูปลักษณ์ ‘ไม่สมหญิง’ อยู่ตลอด ในฐานะที่ตนอยู่ในแวดวงการเขียนญญมาสิบกว่าปี ทั้งนักเขียนและนักอ่านญญเองก็เผชิญกับปัญหานี้อยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ?
ในยุคแรก เอาจริงกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เนาะว่ารูปลักษณ์การแสดงออกของตัวละครหลักทั้งสองคนนั้นถอดแบบมาจากชายหญิงเลย เหตุผลคืออะไรก็เล่าไปหมดแล้วเนาะ จนกระทั่งเราเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน สังคมญญได้เรียนรู้และทำความเข้าใจคำว่าเลสเบี้ยนมากขึ้น งานเขียนพักหลัง ๆ มานี้จึงเน้นไปทางตัวละครหลักทั้งสองมีความเฟมินีนทั้งคู่ ไม่เพียงแต่อุปนิสัย การแสดงออก แต่ยังรวมถึงรูปร่างหน้าตาด้วย ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมา 13 ปีแล้วญญยังต้องมาแก้ความเข้าใจผิดของสังคมว่าพวกเราไม่ได้มีแต่ทอมและดี้ แต่ลองมาคิดดี ๆ มันไม่ใช่เพราะเราไม่พูด พวกเราพูดกันมาตลอด (งานแรกเมื่อ 13 ปีที่แล้วของบุ๊คก็เฟมินีนทั้งคู่ หรือที่เรียกว่าเลสลิปสติกเนาะ) แต่เป็นเพราะสังคมมันไม่เคยเห็นหัวเรา ไม่เคยได้ยินเสียงเรารึเปล่านะ? เราถึงยังต้องมาพูดซ้ำ ๆ กันอยู่แบบนี้
เมอัน กำลังตั้งคำถามว่าการที่เราเอาแต่หมกมุ่นว่าหญิงรักหญิงจะต้องประกอบด้วยผู้หญิงตัวเล็ก บอบบาง หรือที่เรียก ‘ผู้หญิงตามมาตรฐาน’ นั้น คือการที่เราเองก็หนีไม่พ้นกรอบของทวิลักษณ์รึเปล่า??
เราหนีออกจากกรอบของความเป็นชายและความเป็นหญิง เพื่อไปติดอีกกรอบหนึ่ง คือกรอบความเป็นหญิงมาตรฐานตามที่ปิตาฯกำหนดเอาไว้ตายตัวอยู่ดีใช่ไหมนะ?
เพราะความจริงก็คือ รอบตัวเรานี้เองยังมีเพื่อน ๆ ผู้หญิงอีกมากมายหลายคนใช่ไหมคะที่มีรูปร่าง รูปลักษณ์ไม่ตรงตามมาตรฐานที่สังคมนิยมชมชอบ (อย่างตัวบุ๊คเองก็ยังถูกเพื่อน ๆ ล้อเรื่องนี้อยู่ตลอดจนวันนี้) และในคำว่า ‘ผู้หญิง’ นี้เอง ประกอบไปด้วยผู้หญิงอีกมากมายหลายแบบที่มิอาจตัดสินได้จากเพศกำเนิดเพียงเท่านั้น แล้วถ้าหากพวกเขาเหล่าผู้ไม่ตรงกับมาตรฐาน ‘ความเป็นหญิง’ มีรสนิยมชมชอบผู้หญิงเช่นเดียวกัน
คำถามก็คือ คอมมูนิตี้หญิงรักหญิงของเรา
จะโอบรับเขาไว้ด้วยความยินดีรึไม่?
ถามไว้ชวนให้คิดค่ะ
แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเล่าเรื่องในเมอันมันก็ยัง ‘ทื่อมะลื่อ’ ใช้คำวิจารณ์นี้ของคนอ่านมาบรรยายก็แล้วกันนะ บุ๊คก็ยินดีและยอมรับคำติชมนั้นด้วยความเต็มใจนะ ยังไงก็ไม่ยอมแพ้หรอก ครั้งหน้าต้องเอาใหม่!
และแล้ววันปีใหม่ก็เวียนมาถึง…

ปี 2022
กันตัน : ต้นกำเนิด
อย่างที่เห็นมาตลอดระยะเวลาการปลุกปล้ำอยู่กับงานเขียนแนวทดลองนั้น เวลาได้ล่วงผ่านนับตั้งแต่กลางปี 2020 มาจนถึงปีนี้ 2022 ในที่สุดเฟมินิสม์ก็ดูจะได้ซึมซับเข้าไปในเนื้อในหนังของบุ๊คแล้วค่ะ 5555+
ปีนี้บุ๊ครู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น และได้เรียนรู้ว่าการเป็นเฟมมันไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดมากมายขนาดนั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับทฤษฎีมากจนเกินไป เราสามารถประยุกต์ใช้และสอดแทรกมันอย่างแนบเนียนไปกับเรื่องเล่าที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวแต่ที่จริงแล้วมันเกี่ยวเต็ม ๆ อะไรแบบนี้ได้ และบุ๊คพร้อมมาก และมีพลังเหลือล้นมาก พร้อมที่จะระเบิดทุกเรื่องเล่าทุกประสบการณ์ทุกเทคนิคการเขียนให้กับเรื่องนี้เลยทีเดียว เวอร์ไปไหมเนี่ย 55555
กันตันต้นกำเนิด เป็นเรื่องเล่าในจักรวาลเดียวกันกับ ‘กันตัน : เช้าวันที่ 1 มกรา’ ซึ่งมี 5 ภาคจบ ในภาคหลักนั้นบุ๊คเขียนขึ้นด้วยความรู้เรื่องสังคมและการเมืองแบบงู ๆ ปลา ๆ อาศัยการหาข้อมูลเยอะ(เท่าที่เงินจะถึง) ตอนนั้นบุ๊คคิดสัญญะง่าย ๆ เพื่อจะสื่อเรื่องชนชั้นความไม่เท่าเทียมในสังคม คือ
- ควีนอากาเนะ ตัวแทนของ ชนชั้นสูง
- คิวเบย์ – ชนชั้นกลาง
- ซายูริ – ชนชั้นล่าง/คนชายขอบ
และมีมิคาสะเป็นเสมือนสายลมที่ถูกสังคมพัดพาให้เชื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามสังคมไปสิ อย่าพยายามคิดเอง เลือกเอง ตัดสินเอง ถ้าทำตัวแปลกและแตกต่างหรือคิดพยศต่อระบบนั้นย่อมไม่เป็นการดีหรอกนะ
บุ๊คก็คิดเชื่อมโยงตามประสานักเขียนที่ไม่มีประสบการณ์มากมายและยังต้องขายเรื่องรักเพื่อยังชีพ ก็คือให้มิคาสะไปรักกับผู้หญิงทั้งสามคนด้านบนแล้วพิจารณาเอาเองเถิดว่าตนอยากจะเลือกหนทางไหน
จับพลัดจับผลูไปอย่างไรไม่รู้ให้คนตีความไปได้ว่านี่เป็นแนวฮาเร็ม ในเมื่อมีโอกาสแล้วก็ขออธิบายตรงนี้เลยก็แล้วกันนะคะว่าจะเป็นฮาเร็มได้นั้นเราต้องดูที่ ‘อำนาจและความยินยอมพร้อมใจ’ ด้วยค่ะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามจนจบนั้นจะรู้เลยว่าบักมิคาสะของดิฉันนั้นมันช่างกากถุยไร้อำนาจกับเมีย ๆ เสียเหลือเกิน 5555555555 ฮือออ ยังไม่พอ เมีย ๆ ทั้งสามของนางก็มิได้มีนางเป็นผัวคนเดียวเสียที่ไหน ต่างคนก็ต่างมีคนของตัวเองเป็นตัวเป็นตนกันทั้งนั้น และมิคาสะก็ไม่เคยมีปัญหากับเรื่องนี้เลย (ยกเว้นอาจจะมีหึงบ้างนิด ๆ กับยัยคนแรกเพราะสวยสุดในปฐพี)
และความสวยสุด ยิ่งใหญ่สุดในปฐพีจักรพรรดินีนี้เองนะคะที่นำมาสู่ความสัมพันธ์เป็นพิษ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ขู่ผัวให้คุกเข่า (ยัยผัวเรื่องนี้ก็แม้มีลุคแข็งแกร่งห้าวหาญให้เห็นแต่เป็นรับบนเตียงนะคะ) เอาแต่ใจหนักมาก(แต่คนอ่านก็รักก็โอ๋มากเช่นกัน แซว ๆ) รับไม่ได้ที่ตัวเองจะต้องเป็นที่สองเป็นที่สามรองจากหญิงที่มีสถานะต่ำกว่าแถมคนหนึ่งยังพิการ อีกคนยังเป็นโสเภณีอีกต่างหาก แต่เพราะมีถึง 5 ภาค จำนวนหน้ากว่า 2,500 หน้าจึงสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างเต็มที่ว่าตัวละครนี้มีมิติอย่างไร เหตุใดเขาจึงรู้สึก insecure หวงแหนอำนาจมากขนาดนั้น ตัวละครคิวเบย์ในฐานะชนชั้นกลางเลือกจะฝักใฝ่ฝ่ายไหน ซายูริที่เป็นชนชั้นล่างเลือกจะโต้กลับอำนาจของควีนอย่างไร และสุดท้ายต้องลงเอยแบบไหน จะว่าไปก็เฟมแบบไม่ได้ตั้งใจเหมือนกันนะนี่!
นั่นแหละ ประเด็นนี้มันจึงนำมาสู่เนื้อหาของกันตันต้นกำเนิด ซึ่งไอ้ต้นกำเนิดที่ว่าเนี่ยมันก็มาจากคำว่า Origin คือความหมายของ ‘มินาโมโตะ’ ต้นตระกูลของ ‘มินาโมโตะ อากาเนะ’ ตัวละครเอกของภาคหลักนั่นเอง
ตัวเนื้อหานั้นจะพูดถึงโลกก่อนที่ปิตาธิปไตยจะรุกรานและครอบครองเป็นใหญ่ในสังคม โลกที่เราได้แต่ฝันถึงราง ๆ ไม่อาจจินตนาการเห็นมันชัดเจน เพราะนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก โลกที่ทุกคนเท่าเทียมกัน โอบรับทุกความหลากหลาย โลกที่การให้กำเนิดไม่ได้ขึ้นกับ cishet แต่เพียงเท่านั้น ไม่มีแท้ ไม่มีเทียม ไม่มีแบ่งแยกกีดกัน การเกิดมิได้ผูกโยงกับการผลิตแรงงานเข้าสู่ระบอบทุนนิยม เราเกิดมาเพื่อมีชีวิตและใช้ชีวิต โลกก่อนที่ของวิเศษทั้ง 3 สิ่งจะถูกเอามาใช้เพื่อการสงคราม แล้วเหตุใดมันจึงเป็นเช่นนี้? เหตุใดเราจึงมาลงเอยอย่างเช่นทุกวันนี้กันเล่า? เหตุใดผู้หญิงจึงเกลียดชังกันและยากยิ่งที่จะเข้าอกเข้าใจอย่างที่แสดงให้เห็นในกันตันภาคหลัก แล้วผู้หญิงเกี่ยวกับผู้คนและชนชั้นอย่างไร กันตันต้นกำเนิดจะตอบคำถามเหล่านี้แก่ท่านผู้อ่านและเชิญชวนให้มาฝันถึงโลกแบบใหม่นี้ด้วยกัน
ยังไงก็ตาม บุ๊คไม่สามารถรับปากได้ว่านี่จะเป็นนิยายที่ดีที่สุด หรือตัวเองจะทำได้ดีในเรื่องของการประยุกต์ข้อมูลกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่บอกได้เพียงว่าไม่เคยมั่นใจเท่านี้มาก่อน นับตั้งแต่ล้มครั้งใหญ่คราวนั้นคราวที่รู้ว่าตนกำลังเขียนญญติดปิตาฯมาโดยตลอด
วันนี้เหมือนได้เกิดใหม่เลยค่ะ
ไอ้ความกลัวทั้งหลายแหล่ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมามันสลายหายไปเกือบหมดแล้ว (ที่ต้องกลัวไว้บ้างเพราะถ้าเกิดว่ามั่นไปอาจทำให้ตัวเองมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนก็ได้เนาะ) 2 ปีที่บุ๊คตัดสินใจเบนเข็มมาเขียนญญเฟมินิสม์ทั้งที่รู้แก่ใจดีว่ามันขายไม่ได้และทำให้หวั่นใจเรื่อยมาว่าตัวเองจะสามารถเป็นนักเขียนไปจนแก่ได้ไหมนะ มีหลายครั้งที่ท้อและอยากกลับไปเขียนแนวเป็นพิษแมส ๆ เหมือนเก่าเพื่อยังชีพตนเองให้อยู่รอดไปได้ แต่บุ๊คก็ทำไม่ได้จริง ๆ
เพราะทั้งชีวิตบุ๊คมีแต่คนอ่านเท่านั้น
ตอนที่ยังต่อสู้กับอคติตัวเอง ยังไงก็ยอมรับไม่ได้หรอกว่าเรามีส่วนในการผลิตซ้ำสื่อเป็นพิษจากปิตาฯ ไม่เอาหรอก น่าอายจะตายไป จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ไม่ ฉันไม่ผิด!
แต่คุณ…คุณผู้อ่าน คุณนั่นล่ะที่เป็นคนช่วยบุ๊คเอาไว้
ช่วยให้บุ๊คหลุดพ้นมาได้
ถ้าต้องเลือกระหว่างก้มหน้าเขียนญญติดปิตาฯต่อไปทั้งที่ใจรู้ว่ามันส่งผลร้ายแรงต่อพวกคุณมากแค่ไหน บุ๊คขอเลือกยอมรับผิดไปเลยง่ายกว่า เพราะสิ่งที่รับไม่ได้ที่สุดคือการต้องผลิตงานแย่ ๆ ออกไปสู่คนอ่านที่อุตส่าห์รักและสนับสนุนบุ๊คเรื่อยมา พวกคุณทำให้อีโก้ห่า ๆ ของบุ๊คพังทลายไปหมด
ต้องขอบคุณมากจริง ๆ ที่ยังคงเป็นกำลังใจ พร้อมที่จะลองอ่านแนวใหม่ไปพร้อมกันกับบุ๊ค ขอบคุณมากจริง ๆ ที่ซื้อหนังสือของบุ๊ค ทำให้บุ๊คได้มีโอกาสได้ทดลองอะไรหลายสิ่ง ได้เข้าถึงข้อมูลราคาแพง ได้พัฒนาตนอย่างไม่หยุดยั้ง ที่มาไกลถึงขนาดนี้ก็เพราะอยากจะเป็นนักเขียนที่คุณภาคภูมิใจ เป็นนักเขียนของคุณเท่านั้น เป็นนักเขียนที่คุณจะเอาไปอวดใครเขาได้ เนื่องในเดือนแห่งความรักนี้ก็ถือโอกาสเนียนบอกรักเลยก็แล้วกันนะคะ
รักมากค่ะ.
ส่วนสำหรับเพื่อนนักเขียนที่ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านนั้น สิ่งที่บุ๊คอยากจะย้ำก็คือ จริงอยู่ที่ไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่เมื่อรู้แล้วควรยอมรับแล้วแก้ไข ไม่เป็นไรที่คุณจะใช้เวลานาน บุ๊คเองก็ทรมานมากเหมือนกันกับการสู้รบปรบมือกับอคติของตนอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพียงแค่คุณเริ่มคิด เริ่มตั้งคำถาม เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่ตนเขียน ตระหนักถึงผู้อ่านที่รักและสนับสนุนคุณ นั่นก็ถือเป็นก้าวที่ดีมากแล้ว บุ๊คจะอยู่ตรงนี้คอยช่วยเหลือคุณในฐานะเพื่อนนักเขียนด้วยกัน จะพยายามหมั่นเข้ามาอัปเดตข้อมูลความรู้เรื่องเฟมินิสม์และผู้มีความหลากหลายอันเกี่ยวข้องกับงานหญิงรักหญิงเพื่อที่คุณจะได้นำมันไปประยุกต์ใช้กับงานของคุณ เพื่อสร้างสรรค์สื่อที่ดีต่อคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงของเรา เพื่อเล่าเรื่อง เพื่อส่งเสียงเรื่องราวของเราที่เป็นของเราจริง ๆ ให้สังคมนี้ได้รับรู้และได้ยินเสียงของเราเสียที มาสู้ไปด้วยกันนะคะ.
ป.ล. หากใครต้องการจะสอบถามว่านิยายที่เราเขียนหรืออ่านกำลังติดกรอบปิตาฯอยู่รึไม่ และควรทำอย่างไรดี สามารถทักมาหาบุ๊คได้ที่ทวิตเตอร์ @Booky70 หรือแชทเฟซบุ๊คเพจ Booky70 ได้ตลอดเวลาเลยนะคะ ยินดีพูดคุยเสมอค่ะ